จากกระแส สุราก้าวหน้า ที่มีนโยบายมุ่งเน้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร และช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรกรให้มีรายได้ จนเกิดปรากฏการณ์สุราพื้นเมืองของไทยขายดีจนหมดเกลี้ยงไปหลายโรงงานและผลิตใหม่กันไม่ทัน เพราะมีข้อจำกัดในการผลิต วันนี้เราจะมาพารู้จักสุราท้องถิ่นแดนอีสาน แบรนด์ขึ้นชื่อของแต่ละจังหวัดมีอะไรกันบ้าง
สาคู (Saku) จ.นครราชสีมา
สุราชุมชนจากเขาใหญ่ สาคู (Saku) ที่มีการทดลองทำมาแล้วถึง 3 ปี แต่ได้รับอนุญาตเมื่อเดือนกันยายน 2565 สูตรต้นตำรับและดั้งเดิมจากรุ่นคุณยาย โดยมีรุ่นหลานนำมาปรับปรุงและผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่น จนได้รสชาติอันเป็นเอกลัษณ์ และพัฒนาวิธีการผลิตมาเรื่อย ๆ จนกำเนิดแบรนด์ Saku สุราท้องถิ่นเมืองย่าโม
เหล้าคูณ จ.ขอนแก่น
สุรา เจ้าข้าวอินทรีย์ ที่เจ้าของ คือ คุณสวาท อุปฮาด ได้เปลี่ยนวิถีปลายทางเดิม ๆ จากการส่งไปยังโรงสี นำมาแปรเป็นสุราท้องถิ่นแดนอีสาน ของดีเมืองขอนแก่น ด้วยองค์ความรู้ที่สืบทอดต่อกันมารุ่นพ่อแม่ในวัยเด็กน้อย จนกลายมาเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกิดเป็นโรงกลั่นสุราชุมชนขนาดเล็ก และมีการจดแจ้งทะเบียนอย่างถูกต้องตั้งแต่ปี 2560
ออนซอน (Onson) จ.สกลนคร
สุราท้องถิ่นที่ดัดแปลงสูตรดั้งเดิมจากที่เคยใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบทั้งหมด แต่เจ้าของสูตรเดิมทำเหล้าออนซอนเป็นงานอดิเรก และมีความคิดจะเลิกทำ แต่มีคนมาช่วยสืบทอดโดยมีการปรับเปลี่ยนสูตรจากที่ใช้อ้ออยทั้งหมดในการกลั่น เปลี่ยนมาใช้ช่อดอกมะพร้าวแทน และพัฒนาจนกลายมาเป็นแบรนด์ใหม่จนปัจจุบัน
ซอดแจ้ง (Sod Chaeng Spirit of Issan) จ. อุบลราชธานี
โรงกลั่นสุราชุมชนซอดแจ้งเกิดจากแนวคิดเพิ่มมูลค่าสินค้าทางเกษตร เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนในท้องถิ่น โดยเริ่มต้นจากการพัฒนา EM ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ธรรมชาติเพื่อการเกษตร ใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี และปรากฏว่าได้ผลทางการเกษตรที่ดีมีคุณภาพสูงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี และนำผลผลิตที่ได้มาต่อยอดใช้เป็นวัตถุดิบ โดยวิธีการผลิตที่ทันสมัย ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น จนกลายเป็นสุราพื้นเมืองของชาวอุบลราชธานี สร้างมูลค่าให้กับผลการเกษตร และเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชน อีกทั้งยังเพิ่มมาตรฐานสุราชุมชนมีความเป็นสากล ซึ่งคำว่า “ซอดแจ้ง” แปลว่า แสงแรกยามเช้า แต่คนอีสานมักจะพูดว่า ซอดแจ้ง : ยันหว่าง (ยันสว่าง)
ไร่ฟ้าเปลี่ยนสี (เหล้าเตยหอม) จ.ชัยภูมิ
ไร่ฟ้าเปลี่ยนสี เป็นเหล้าเตยหอม ที่ผลิตจากข้าวเหนียวของชาวชัยภูมิ กลั่นผสมกับใบเตยหอม และวัตถุดิบสมุนไพรอื่น ๆ โดยใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติป่าภูเขียว ซึ่งแนวคิดการผลิตเหล้านี้เริ่มจากคนในครอบครัวของเจ้าของแบรนด์เป็นนักดื่มตัวยง จนไม่สามารถห้ามปรามในการงดดื่มได้ จึงมีความคิดว่า เมื่อห้ามดื่มไม่ได้ งั้นก็ผลิตเหล้าให้ดื่มเองดีกว่า จะได้กำหนดวัตถุดิบและกระบวนการผลิต ที่สามารถให้คนในครอบครัวดื่มได้อย่างสบายใจ จนกลายมาเป็นธุรกิจสุราท้องถิ่น
ไทยสาโท (Thai Sato – Satom Organic Farm) จ.สุรินทร์
สุราฟิวชั่น ที่พัฒนามาจากสาโทโบราณ นำมาประยุกต์กับเทคนิคการทำไวน์องุ่น การสาโท หรือข้าวแช่พื้นเมืองที่ทำมาจากข้าวที่เหลือจากการขาย ทำให้เก็บไว้ได้นานขึ้น แถมยังมีรสชาติหวานซ่า สดชื่น และมีรสชาติหลากหลายจากข้าวพื้นเมืองนานาสายพันธุ์ เช่น ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวดำ ข้าวมะลินิลสุรินทร์ และไวน์ผลไม้ที่หมักจากกล้วยและมะม่วงกะล่อน จนกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนแซตอม ออร์แกนิก ฟาร์ม สร้างมูลค่าสินค้าพื้นเมืองและรายได้แก่ชุมชน
เหล้าอุ จ.นครพนม
เหล้าอุ รสหวานกลมกล่อม เครื่องดื่มมึนเมาที่สืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปีของชาวเผ่าภูไทหรือชาวผู้ไทย ซึ่งอาศัยในบริเวณอำเมืองนครพนม เป็นเครื่องดื่มไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง หรือเลี้ยงสังสรรค์ในงานบุญ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะรู้จักกันในชื่อ สาโท หรือ เหล้าโท และเป็นสินค้าขึ้นชื่อของอำเภอเรณู จนกลายเป็นของดีประจำจังหวัดนครพนม ที่ใครได้ไปเยี่ยมเยือนต้องซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือเสมอ
อีสานรัม (Issan Rum) จ.หนองคาย
แบรนด์สุราไทยที่เริ่มผลิตโดยคู่สามีชาวฝรั่งเศส – ภรรยาชาวไทย ด้วยภรรยามีไร่อ้อยมากมายในจังหวัดหนองคาย และไม่รู้จะนำผลผลิตจากอ้อยไปแปรรูปอะไรดี ฌอง ผู้เป็นสามีและนิยมการดื่ม จึงได้นำอ้อยมาหมักและกลั่นเหล้าเอง ปรับปรุงสูตรและพัฒนามาเรื่อย ๆ จนได้ตั้งโรงงานกลั่นขึ้นมา กำเนิดเป็นสุราพื้นเมืองที่ผลิตจากอ้อยในพื้นที่เป็นหลัก จนได้รับรางวัลเหรียญเงินจากเวทีระดับโลก IWSC (International Wine and Spirit Competition) ในปี 2557
ร้อยธานี เบฟเวอเรจ ป๊าดโธ จ.ร้อยเอ็ด
จากสาโทสูตรต้นตำรับเกือบ 100 ปี ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงรุนที่ 3 เริ่มมาจากการลงแขกดำนา เกี่ยวข้าวในสมัยก่อน จะมีการทำสาโทให้ญาติพี่น้องได้ชิมในงานบุญต่าง ๆ จนทำให้การดื่มสาโทกลายเป็นวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวบ้านไปโดยปริยาย โดยใช้ข้าวเหนียวในท้องถิ่นเป็นวัตถุดิบหลัก และพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นสินค้าแปรรูปที่ถูกต้องตามกฏหมาย จำหน่ายเป็นของขึ้นชื่อประจำจังหวัดร้อยเอ็ด