รู้ไหมว่าไข้หวัดกับไซนัสอักเสบต่างกันอย่างไร?
ช่วงฤดูฝนแบบนี้ หลายคนมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ซึ่งอาจเป็นอาการของไข้หวัดธรรมดา แต่บางรายอาจเป็นอาการไซนัสอักเสบ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ไข้หวัด! แล้วไข้หวัดกับไซนัสอักเสบต่างกันอย่างไร สังเกตจากอะไรว่าอาการที่เป็นอยู่นั้น ไข้หวัดทั่วไปหรือโดนไซนัสอักเสบจู่โจมเข้าแล้ว
ไข้หวัด (Common Cold)
ไข้หวัด เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จมูก และส่วนลำคอ
อาการไข้หวัด : เจ็บคอ คัดจมูก ไอ จาม มีน้ำมูกใส มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อาการดีขึ้นและสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน
ปัจจัยกระตุ้นให้เป็นไข้หวัด : สภาพอากาศ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
การรักษาโรคไข้หวัด
มีไข้ : กินยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
มีน้ำมูก : ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และ กินยาลดน้ำมูก เช่น เซทิไรซีน (Cetirizine)
มีอาการไอ : กินยาบรรเทาอาการไอ เช่น อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine)
หรืออาจต้องมีการใช้ยาต้านจุลชีพ Antibiotics ในผู้ป่วยบางราย ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร
ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
ไซนัสอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อภายในโพรงไซนัส ได้แก่ โหนกแก้ม หน้าผาก หลังโพรงจมูก และ ด้านข้างลูกตา โดยโรคไซนัสอักเสบจะมี 2 ชนิด คือ ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน คือ มีอาการน้อยกว่า 12 สัปดาห์ และ ไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง คือ มีอาการมากกว่า 12 สัปดาห์
อาการไซนัสอักเสบ : ปวดแน่นบริเวณใบหน้า กดเจ็บบริเวณใบหน้า เช่น หัวตา รอบกระบอกตา หน้าผาก โหนกแก้ม หูอื้อ คัดแน่นจมูก มีน้ำมูกข้นสีเขียวหรือสีเหลือง มีเสมหะข้น เสมหะไหลลงคอ หายใจมีกลิ่นเหม็น การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติแย่ลง โดยอาการต่าง ๆ อาจเป็นมากกว่า 10 วันขึ้นไป หรือมีอาการดีขึ้นแล้วกลับแย่ลงอีก
ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดไซนัสอักเสบ : ไข้หวัด ภูมิแพ้ ริดสีดวงจมูก เนื้องอกในจมูก มีสิ่งแปลกปลอมในจมูก การดำน้ำ การว่ายน้ำ การติดเชื้อในฟัน
ภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบ
สำหรับโรคไซนัสอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะอื่น ๆ ได้ เช่น
- ตาและระบบการมองเห็น : เจ็บตา ตาบวม เห็นภาพไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน และอาจสูญเสียการมองเห็นหากมีอาการรุนแรง
- สมองและระบบประสาท : ปวดศีระ ปวดแน่นบริเวณใบหน้า มีไข้สูง เนื้อเยื่อสมองอักเสบ และอาจลุกลามไปถึงเนื้อสมองจนมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
การรักษาโรคไซนัสอักเสบ
- ล้างจมูก การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หรือยาพ่นล้างจมูก เพื่อเป็นการทำความสะอาดภายในโพรงจมูก ช่วยให้น้ำมูกข้นน้อยลง สามารถสั่งน้ำมูกออกมาได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
- ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาแก้แพ้ ยาละลายเสมหะ ยาลดบวม จะช่วยให้อาการไซนัสอักเสบดีขึ้น
- เจาะล้างไซนัส ซึ่งวิธีนี้จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการเป็นมาก รักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้วไม่ดีขึ้น
- ผ่าตัด โดยจะใช้ในผู้ป่วยที่ล้างไซนัสแล้วไม่ดีขึ้น หรือในรายที่มีริดสีดวงจมูก หรือ ผู้ป่วยไซนัสที่เริ่มมีอาการแทรกซ้อน
ดังนั้น หากอาการคัดจมูก น้ำมูกข้นเรื้อรัง มีอาการเพิ่มมากขึ้น และมีอาการมากกว่า 10 วันขึ้นไป ไม่ควรนิ่งเฉย แต่ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะอาการไซนัสอักเสบสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลาก่อนที่จะลุกลามจนมีอาการแทรกซ้อนหรือรุนแรงแก่ชีวิต