ช่วงฤดูฝนแบบนี้ ทำให้หลายคนมีอาการไอแห้ง หรืออาการไอไม่มีเสมหะ (Non-Productive Cough) ซึ่งเป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไป และอาการไอแห้งเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งอาการแพ้ มีการติดเชื้อ มีอาการระคายเคืองในลำคอ หรือ อาการไอจากการสูบบุหรี่ และบางครั้งอาการไอแห้งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการเจ็บคอ และอาจมีอาการไอรุนแรงขึ้นในเวลากลางคืน
สาเหตุของอาการไอแห้งเกิดจากอะไร
เมื่อร่างกายมีความผิดปกติบางอย่าง ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจจนทำให้เกิดอาการไอแห้งได้ โดยอาจมีสาเหตุมาจาก :
โรคไข้หวัด
ไข้หวัด หรือ โรคหวัด ที่เรียกว่า Common Cold เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มีอาการป่วยไม่รุนแรง และมักจะหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ โดยอาการโรคหวัดได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ตัวร้อน และอาจมีการอักเสบบริเวณลำคอ ทำให้มีอาการไอ ซึ่งสามารถพบได้ทั้งชนิด ไอแบบมีเสมหะ และ ไอแบบไม่มีเสมหะ หรือไอแห้ง โดยผู้ป่วยบางรายเมื่อหายไข้หวัดแล้ว แต่อาจยังมีอาการไอ อันเนื่องมาจากการระคายเคืองที่ลำคอ ซึ่งต่อเป็นผลมาจากโรคหวัด และส่วนใหญ่มักจะเป็นอาการไอแห้งแบบไม่มีเสมหะ
โรคหืด โรคหอบ
โรคหืด หรือ โรคหอบ (Asthma) คือ โรคที่มีความผิดปกติทางระบบหายใจ มีการตอบสนองไว และหดตัวมากกว่าปกติ จนทำให้มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ตามมา เช่น เสียงหายใจหวีดแหบ หายใจหอบเหนื่อย อาการแน่นหน้าอก และอาการไอ ซึ่งเป็นอาการหลัก ๆ ของโรคหืดหอบ โดยสามารถพบได้ทั้งไอแบบมีเสมหะ และ ไอแบบไม่มีเสมหะ แต่ในผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเป็นอาการไอแห้งแบบไม่มีเสมหะ
โรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน หรือ GERD (Gastroesophageal Reflux Disease) คือ อาการแสบร้อนกลางอก เนื่องจากอาหารไม่ย่อย และมีความระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร สาเหตุจากการทำงานผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารและน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นตามท่อลำเลียงอาหารส่วนบนและลำคอ และเมื่อน้ำย่อยที่เป็นกรดสัมผัสกับเนื้อเยื่อในลำคอ จึงเกิดอาการระคายเคือง และมีอาการไอแห้งตามมา ซึ่งมักจะพบได้บ่อยในช่วงเวลากลางคืน ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนอาจมีอาการจุกเสียด แน่นหน้าอก เรอเปรี้ยว เจ็บคอเรื้อรัง และมีอาการไอร่วมด้วย
โรคหัวใจ
ผู้ป่วยโรคหัวใจบางราย อาจเกิดถาวะล้มเหลว ทำให้หายใจไม่ออก มีอาการไอแห้ง และอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งนับว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทีต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
การติดเชื้ออื่น ๆ
การติดเชื้ออื่น ๆ ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการไอแห้งได้เช่นกัน เช่น การติดเชื้อโควิด -19 ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดลมอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ หูอักเสบ รวมไปถึงการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองในลำคอ ระบบทางเดินหายใจ หรือ โรคปอด เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด ภาวะปอดรั่ว โรคไอกรน เป็นต้น
มลพิษทางอากาศ ฝุ่น สารเคมี และสารก่อภูมิแพ้
การได้รับมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น ควันพิษ สารเคมี ที่ส่งผลกระทบต่อเยื่อโพรงจมูก และระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคืองในลำคอ จนทำให้มีอาการไอแห้งได้เช่นกัน รวมไปถึงการได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสร เชื้อรา ไรฝุ่น รังแค หรือ ขนสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการไอแห้ง
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะช่วยให้ระบบคุ้มกันทำางนได้มีประสิทธิภาพ ช่วยบรรเทาอาการ และลดระยะเวลาในการป่วยให้หายเร็วขึ้น และยังป้องกันร่างกายขาดน้ำ อีกทั้งการดื่มน้ำยังเป็นการทำความสะอาดลำคอ ช่วยลดการระคายเคืองคอได้
พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อน เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้ทำการซ่อมแซมฟื้นฟู หากได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ร่างกายก็จะมีการฟื้นฟูและซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายได้อย่างเต็มที่ ช่วยลดการติดเชื้อไรโนไวรัส (Rhinovirus) ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ อาการไอ หรืออาหารหวัด และหายป่วยเร็วขึ้น
เพิ่มโพรไบโอติก
โพรไบโอติก หรือ Probiotics คือ เชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของการโรคติดเชื้อ ที่มักจะก่อให้เกิดอาการไอแห้งร่วมด้วย โดยสามารถพบโพรไบโอติกในอาหารหมักดอง เช่น กิมจิ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต น้ำหมัก และผักผลไม้ดองอื่น ๆ
จิบน้ำผึ้งมะนาว
การดื่มน้ำผึ้งผสมมะนาว โดยใช้น้ำผึ้ง 1 – 2 ช้อนชาในน้ำอุ่น หรือใส่ในน้ำชาร้อน แล้วตามด้วยการบีบมะนาวลงไป หมั่นจิบบ่อย ๆ จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอและอาการไอได้ เพราะมะนาวมีกรดวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในลำคอ ในขณะที่น้ำผึ้งช่วยต้านเชื้อไวรัสบางชนิดได้