“งู” สัตว์ที่ใครได้ยินชื่อก็มักจะกลัวหรือขออยู่ห่าง ๆ ไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นงูพิษหรืองูไม่มีพิษก็ตาม เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในการแยกความแตกต่างระหว่างงูพิษกับงูไม่มีพิษ ฉะนั้น การไม่เจอะเจอ ไม่เฉียดใกล้เลยจะดีกว่า โดยเฉพาะ “งูทะเล”
งูทะเลมีมากมายหลายชนิด ทั้งงูคออ่อนท้องขาว งูแสมรัง งูผ้าขี้ริ้ว งูกะรังหัวโต งูสมิงทะเล งูสมิงทะเลปากเหลือง งูสมิงปากดำ และงูทะเลลึกอื่น ๆ อีกหลายชนิดด้วยกัน งูทะเลส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในทะเลตลอดชีวิต ออกลูกเป็นตัว แต่จะมีบางชนิด งูสมิงทะเล และ งูสมิงทะเลปากเหลือง สืบพันธุ์ด้วยการวางไข่ และสามารถเลื้อยขึ้นหาดไปวางไข่บนบก ต่างจากงูทะเลอื่น ๆ สามารถพบได้ในฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน
งูทะเลส่วนใหญ่เป็นงูพิษ และมักจะเป็นงูพิษร้ายแรง ในประเทศไทยงูทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุด คือ งูสมิงทะเลปากดำ (Laticauda katucaydate) ซึ่งเป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุดในสกุลงูทะเล และงูสมิงทะเลปากเหลือง พิษของงูทะเลร้ายแรงกว่างูเห่า 2 -10 เท่า แค่พิษ 1 หยด สามารถฆ่าผู้ชายตัวโต ๆ ได้ถึง 3 คน พิษของงูทะเลจะมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาท (Neurotoxin) และ ชนิดที่ออกฤทธิ์ทำลายกล้ามเนื้อ (Myotoxin) ทำให้ผู้ที่ได้รับพิษงูเป็นอัมพาตและตายในที่สุด
อาการของผู้ที่ได้รับพิษจากงูทะเล
เนื่องจากงูทะเลมีปากที่เล็ก อ้าปากได้น้อยกว่างูบก ทำให้ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกกัดจะไม่รู้ตัวว่าถูกงูทะเลกัด และบางรายเสียชีวิตจากการถูกงูทะเลกัดโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่มีอาการเจ็บปวดที่บาดแผล หรือบางรายอาจเจ็บปวดเพียงเล็กน้อย จนเวลาผ่านไปประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง จึงจะเริ่มมีอาการของพิษงูทะเลแสดงออกให้เห็น
อาการเมื่อได้รับพิษงูทะเลชนิด Neurotoxin หลังจากที่ถูกกัด พิษจะกระจายไปทั่วกล้ามเนื้อต่าง ๆ จากนั้นจะเริ่มมีอาการกล้ามเนื้อเครียดเกร็งและรู้สึกเจ็บปวด กล้ามเนื้อทั่วร่างกายแข็งเกร็ง รู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนแรง เจ็บตามกล้ามเนื้อเมื่อเคลื่อนไหว ลิ้นแข็งและไม่มีความรู้สึก มีอาการแสดงทางระบบประสาท สับสน หงุดหงิด หรืออาจซึมลง หนังตาตก กรามแข็งขยับปากได้ยาก พูดไม่ชัด กล้ามเนื้อกระตุก ม่านตาขยายกว้าง เหงื่อออก หายใจลำบาก หมดสติ และหัวใจหยุดเต้นในที่สุด ซึ่งอาการของผู้ป่วยอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่ได้รับ และการตอบสนองต่อพิษของร่างกายในแต่ละคน และไม่จำเป็นว่าต้องมีทุกอาการเกิดขึ้นทั้งหมด
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูทะเลกัด
เมื่อพบว่าถูกงูกัด ให้รีบถ่ายรูปงู หรือสังเกตลักษณะงูให้มากที่สุด (ในกรณีที่ไม่สามารถนำซากงูที่กัดไปให้เจ้าหน้าที่ได้) และรีบทำการปฐมพยาบาล ดังนี้
- ทำความสะอาดแผลที่ถูกงูกัดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์ไอโอดีน
- ปิดบาดแผลด้วยวัสดุปิดแผลทางการแพทย์ หรือวัสดุที่สะอาด เพื่อจำกัดความเคลื่อนไหวของส่วนที่โดนกัด และไม่ควรแกะหรือเปิดบาดแผลอีกจนกว่าผู้ป่วยจะถึงมือแพทย์
- ไม่ควรใช้รากไม้ ใบไม้ หรือสมุนไพรใด ๆ ใส่หรือปิดปากแผล เพราะเสี่ยงต่อแผลติดเชื้อ และอาจทำให้เป็นบาดทะยัก
- ห้ามดื่มของมึนเมา เพราะอาจเกิดปฏิกิริยากับพิษงู จนอาจทำให้มีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- รีบไปพบแพทย์ หรือส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดทันที