ประเพณีลอยกระทงตรงกับวันที่เท่าไร
ประเพณีวันลอยกระทง (Loy Krathong) คือ วันประเพณีสำคัญของคนไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อเป็นการขอขมาพระแม่คงคา และถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ในคืนพระจันทร์เต็มดวง ช่วงที่น้ำเต็มตลิ่ง ผู้คนนิยมนำดอกไม้ ธูป เทียน และอาจใส่เหรียญ หรือตัดผม เล็บ ใสลงไปในกระทง ก่อนนำไปลอยให้ไหลไปตามกระแสน้ำ โดยวันลอยกระทงตรงกับคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคตินั่นเอง
แม้วาการลอยกระทงจะเป็นประเพณีที่คนไทยสืบทอดต่อกันมาเนิ่นนาน แต่เคยสงสัยประเพณีลอยกระทงมีความเป็นมาอย่างไร จะเกี่ยวข้องกับตำนานหรือสิ่งใดบ้างไหม ทำไมจึงมีการลอยกระทงจนมาถึงปัจจุบัน ตาม cybernewsconnect มาแกะรอยประวัติลอยกระทงย่อ ๆ เข้าใจง่ายเพียงไม่กี่นาทีทางนี้ค่ะ
วันลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ แต่กลับไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า จุดเริ่มต้นในการกำเนิดที่แท้จริง เกิดขึ้นเมื่อไรกันแน่ แต่มีความเชื่อกันว่า ประเพณีลอยกระทงมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และถูกเรียกว่า “พิธีจองเปรียญ” หรือ “การลอยพระประทีป” ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เป็นต้นมา อีกทั้งยังปรากฏในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ถึงเรื่องของการเผาเทียนเล่นไฟ เป็นงานรื่นเริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสุโขทัย ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะหมายถึงงานลอยกระทง
การลอยกระทงไม่ได้มีเพียงในวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ยังมีปรากฏว่าเป็นวัฒนธรรมในแถบเอเชีย ที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา โดยเฉพาะคติพุทธและพราหมณ์ ที่มีการลอยกระทงเพื่อเป็นการบูชาในสิ่งที่เคารพนับถือ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า การลอยกระทง คือ พิธีของพราหมณ์ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม และได้มีการนำมาเกี่ยวโยงกับพุทธศาสนา จนเกิดการชัดโคมและลอยกระทงสาย บูชาพระบรมสารีริกธาตุ และบูชารอยพระบาทพระพุทธเจ้า
ต่อมาท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (นางนพมาศ) พระสนมเอกของพระร่วง ได้ประดิษฐ์กระทงทรงดอกบัว เพื่อนำไปลอยขอขมาต่อพระแม่คงคา และยังเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที แต่บางตำราจารึกไว้ว่า เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ผู้เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีความเชื่อในประวัติวันลอยกระทง เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธหลากหลายตำรา เช่นดังต่อไปนี้
ประวัติวันลอยกระทงเพื่อบูชาพระพุทธบาท
คติความเชื่อในเรื่องของลอยกระทงเพื่อบูชาพระพุทธบาท มีหลากหลายตำราด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่าการลอยกระทงเพื่อรอรับเสด็จพระพุทธเจ้า กลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ไปโปรดพุทธมารดา ในขณะที่บางความเชื่อว่า ลอยโคมประทีปเพื่อบูชาพระจุฬามณีเจดีย์สถาน ซึ่งคติความเชื่อส่วนใหญ่ ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงทำการรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา และได้ทรงนำถาดทองที่ตั้งสำรับไปลอยน้ำ หลังจากเสวยเรียบร้อยแล้ว โดยได้ตั้งสัตยาธิษฐานก่อนที่ลอยถาดทองว่า หากพระองค์จักได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภายภาคหน้า ขอให้ถาดทองลอยทวนน้ำ และถาดทองก็ลอยทวนน้ำตามที่พระองค์อธิษฐานไว้ พญานาคแห่งเมืองบาดาลเห็นดังนั้น จึงรู้สึกเลื่อมใสศรัทธา และขอให้พระพุทธเจ้าทรงประทับรอยพระบาทไว้ ณ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อให้เหล่าพญานาคได้ขึ้นมาสักการะบูชา ส่วนนางสุชาดาเมื่อทราบเรื่อง จึงได้นำถาดใส่ดอกไม้และเครื่องหอมต่าง ๆ มาสักการะบูชารอยพระพุทธบาทด้วยเช่นกัน จนกลายเป็นที่มาของการลอยกระทง เพื่อเป็นพุทธบูชาในคืนวันเพ็ญ และถือปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกลายเป็นธรรมเนียมถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน การลอยกระทง นอกจากเพื่อเป็นการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรม โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการขอบคุณและขอขมาแก่พระแม่คงคา ยังถือเป็นโอกาสในการประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ แต่หลังจากที่เกิดโรคระบาดโควิด 19 ทำให้ต้องงดกิจกรรมการลอยกระทง แต่เพื่อไม่ให้ประเพณีดีงามของไทยต้องสูญหาย หรือหยุดชะงักไป จึงมีการรณรงค์ให้ลอยกระทงออนไลน์แทน แต่หลังจากที่สถานการณ์เริ่มซาลง คนไทยก็สามารถกลับมาจัดกิจกรรมวันลอยกระทงได้เป็นปกติ โดยวันลอยกระทง 2566 ตรงกับวันจันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ซึ่่งมีสถานที่หลายแห่งจัดให้มีการลอยกระทง รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ ให้ประชาชนได้เข้าร่วมสืบสานประเพณี แม้จะไม่ตรงกับวันหยุด แต่เชื่อว่า มีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจและเดินทางไปร่วมสืบสานวัฒนธรรม ตามสถานที่จัดงานวันลอยกระทงทั่วประเทศไทยอย่างแน่นอน