ข่าวระบาดฝีดาษลิงเป็นระลอก ๆ แม้จะไม่ได้หนักหน่วงอย่างโควิด 19 แต่ต้องถือว่าเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน โดยล่าสุดได้มีการพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงกว่า 19 จังหวัด โดยมีพื้นที่สีแดง ถึง 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ นนทบุรี และชลบุรี โดยผู้ติดเชื้อรวมกันแล้วอยู่ในหลักร้อย อีกทั้งยังมีผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงแล้ว 1 ราย จากที่เคยมีผู้ป่วยอยู่ในหลักสิบคนเท่านั้น
แต่แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป แต่ควรตระหนักและไม่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดส่วนใหญ่มักจะเป็นเพศชาย แทบจะไม่มีผู้ป่วยเพศหญิงเลย อันเนื่องมาจากสาเหตุของการติดเชื้อฝีดาษลิง ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมทางเพศที่ไม่มีความปลอดภัย และไม่เหมาะสม

โรคฝีดาษลิงคืออะไร
ฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง ภาษาอังกฤษ Monkeypox คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ของวงศ์ Poxviridae ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) โดยพบเชื้อเหล่านี้ในพาหะที่เป็นสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต เป็นต้น แต่ค้นพบโรคนี้ครั้งแรกในลิง ทำให้เป็นที่มาของชื่อโรค “ฝีดาษลิง” นั่นเอง

การติดต่อเชื้อฝีดาษลิง
โรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน และ คนสู่คน ด้วยการสัมผัสผ่านผิวหนัง สารคัดหลั่งของผู้เป็นพาหะและติดเชื้อ รวมไปถึงวัสดุปนเปื้อนเชื้อไวรัส

ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงมีอาการอย่างไร
ผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง มักจะมีตุ่มขึ้นตามร่างกาย มีระยะเวลาฟักตัวของประมาณ 7 – 14 วัน โดยผู้ติดเชื้อจะมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- มีไข้ หรือ ไข้สูง
- ปวดกระบอกตา
- ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ
- มีผื่นหรือตุ่มหนองตามตัว หลังจากมีไข้ประมาณ 2 – 3 วัน
- ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว

ใครบ้างมีความเสี่ยงติดเชื้อฝีดาษลิง
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย เช่น การไม่สวมถุงยางอนามัย
- ผู้ติดเชื้อทางเพศ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม เริม ซิฟิลิส หูดหงอนไก่ เป็นต้น
- ผู้ป่วยหรือติดเชื้อ HIV
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ

ป้องกันตัวอย่างไรให้ห่างไกลจากฝีดาษลิง
โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อ การป้องกันได้ดีที่สุด จึงต้องอยู่ให้ห่างไกลจากสัตว์ที่เป็นพาหะของเชื้อ รวมทั้งอยู่ให้ห่างจากผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ส่วนผู้ติดเชื้อเองก็ควรปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ไปแพร่กระจายโรคแก่ผู้อื่นให้ขยายเป็นวงกว้าง โดยวิธีป้องกันและวิธีการดูแลตัวเอง ทำได้ดังนี้
- ไม่สัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ อย่าง ลิง และสัตว์ฟันแทะต่าง ๆ หนู กระรอก กระแต รวมถึงไม่สัมผัสกับสัตว์ป่วย
- ไม่สัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง เลือด ตุ่มหนอง ของสัตว์ป่า สัตว์ติดเชื้อ และผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง
- หลีกเลี่ยงการทานเนื้อสัตว์ป่าทุกชนิด
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก โดยเฉพาะเนื้อสัตว์
- ใส่หน้ากากอนามัยเสมอ เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรืออยู่ในบริเวณที่มีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์อยู่เสมอ
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ เพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงโดยตรง
แม้ว่าโรคฝีดาษลิงยังเป็นเรื่องใหม่ และยังไม่ระบาดรุนแรงเท่าโควิด 19 แต่ไม่ควรประมาท และควรตระหนักในเรื่องของการป้องกันตนเอง และศึกษาข้อมูลในการรับมือ เพื่อจะได้ผ่อนหนักให้เป็นเบา เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าโรคฝีดาษลิงจะระบาดรุนแรงหรือไม่ การเตรียมพร้อมจึงย่อมดีกว่าการแก้ไขในเวลาที่สายไปแล้ว